Third French Republic; Third Republic (-)

สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓, สาธารณรัฐที่ ๓ (-)

สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ เป็นระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐที่จัดตั้งขึ้นหลังจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)* ล่มสลายลงเนื่องจากฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐–๑๘๗๑)* ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสไม่เพียงทำให้ราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* สิ้นอำนาจเท่านั้น แต่ยังทำให้เจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Ottovon Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีแห่งปรัสเซียรวมชาติเยอรมันได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๗๑ สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ ดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๐–๑๙๔๐ และแม้จะเป็นระบอบการปกครองที่ชาวฝรั่งเศสยอมรับว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมและดีที่สุด แต่รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลผสมก็ขาดเสถียรภาพทางการเมือง มีคณะรัฐมนตรีกว่า ๑๐๐ ชุด ในช่วงเวลา ๗๐ ปี และโดยเฉลี่ยแต่ละชุดมีอายุประมาณ ๘ เดือน

 การจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ เป็นผลสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในช่วงสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียในยุทธการที่เซอดอง (Battle of Sedan)* ใกล้พรมแดนเบลเยียมช่วงต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๗๐จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III)* ทรงถูกจับเป็นเชลย ข่าวความพ่ายแพ้ที่มาถึงกรุงปารีสทำให้เลอง กองแบตตา (Léon Gambetta)* ผู้นำฝ่ายสาธารณรัฐนิยมเห็นเป็นโอกาสประกาศล้มเลิกระบบจักรวรรดิและจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐขึ้นเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ค.ศ. ๑๘๗๐ ทั้งจัดตั้งรัฐบาลป้องกันชาติ (Government of National Defense) ขึ้นเพื่อทำสงครามกับปรัสเซียต่อไป แต่การที่ไม่มีประเทศใดสนับสนุนฝรั่งเศสทำให้กองทัพฝรั่งเศสต้องยอมจำนนเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม และนำไปสู่การลงนามในสัญญาสงบศึกกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑ แต่เยอรมนีเรียกร้องการลงนามในสนธิสัญญากับรัฐบาลที่เป็นผู้แทนของชาวฝรั่งเศสทั้งหมดข้อเรียกร้องดังกล่าวจึงนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่๘กุมภาพันธ์เพื่อจัดตั้งสภาแห่งชาติ ผลการเลือกตั้งทั่วไปปรากฏว่าฝ่ายกษัตริย์นิยมได้รับเลือกเข้ามาเป็นจำนวนมากเนื่องจากชูนโยบายสร้างสันติภาพและการเมืองที่มีเสถียรภาพ ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมที่ต้องการให้ทำสงครามต่อไปแทบจะไม่ได้รับเลือก เลอง กองแบตตา ผู้นำฝ่ายสาธารณรัฐนิยม

 อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาเพื่อสันติภาพกับเยอรมนี มารี โชแซฟ ลุย อาดอล์ฟ ตีเย (Marie Joseph Louis Adolphe Thiers)* ผู้นำฝ่ายบริหารได้เป็นผู้แทนของฝรั่งเศสเจรจาสันติภาพกับเยอรมนีในการลงนามในสนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต (Treaty of Frankfurt)* เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ หลังการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ตีเยซึ่งสนับสนุนราชวงศ์ออร์เลออง (Orléans) สั่งปลดอาวุธกองกำลังป้องกันชาติ (National Guard) และส่งกองทหารมายึดปืนใหญ่และปลดอาวุธกองกำลังป้องกันชาติในกรุงปารีสโดยเฉพาะเขตมงมาร์ต (Monmarte) และแบลวีล (Belle Ville) มีการปะทะกันเกิดขึ้นและชาวปารีสต่อต้านด้วยการจัดตั้งคอมมูนแห่งปารีส (Commune of Paris)* หรือรัฐบาลส่วนท้องถิ่นขึ้นปกครองตนเองและต่อต้านรัฐบาลกลางเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม รัฐบาลจึงส่งกองกำลังทหารไปปราบปรามอย่างเด็ดขาด จนนำไปสู่การปิดล้อมกรุงปารีสและการเกิดสงครามกลางเมืองอันนองเลือดระหว่างวันที่ ๑๘ มีนาคม – ๒๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ การลุกฮือของมวลชนที่น่าสะพรึงกลัวและการใช้อำนาจและกำลังของกองทัพที่เด็ดขาด ทำให้เกิดการสังหารที่นองเลือดและมีส่วนทำให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ทุกฝ่ายพยายามหาทางออกที่เหมาะสมในการจะเลือกระบอบการปกครองที่สร้างเสถียรภาพอันมั่นคงให้แก่ประเทศ

 หลังสงครามกลางเมืองอันนองเลือด รัฐบาลของตีเยพยายามสร้างความสมานฉันท์ขึ้นภายในประเทศและพยายามวางรูปแบบการปกครองที่จะสร้างความแตกแยกให้น้อยที่สุด ฝ่ายกษัตริย์นิยมซึ่งคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาต่างมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับบุคคลที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนเคานต์แห่งปารีส (Count of Paris) พระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* และอีกฝ่ายสนับสนุนเคานต์แห่งชองบอร์ (Count of Chambord) พระราชนัดดาในพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X)* ส่วนพวกสาธารณรัฐนิยมก็แบ่งแยกเป็นพวกหัวรุนแรงและหัวรุนแรงสุดโต่งและอื่น ๆ รัฐสภาที่แตกแยกดังกล่าวจึงไม่รีบร้อนที่จะร่างรัฐธรรมนูญ และมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนตำแหน่งของตีเยจากผู้นำฝ่าย


บริหาร (Chief of the Executive Power) เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ (President of the Republic) ซึ่งทำให้สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ จัดตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ นโยบายเร่งด่วนเฉพาะหน้าของรัฐบาลคือการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐบาลสามารถชำระค่าปฏิกรรมสงครามได้เร็วกว่ากำหนดถึง ๒ ปีและกองทหารเยอรมันกองสุดท้ายได้ถอนกำลังออกจากฝรั่งเศสในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๗๓ นอกจากนี้ รัฐบาลยังปฏิรูปกองทัพฝรั่งเศสให้เข้มแข็งด้วยการบังคับเกณฑ์ทหารเข้าประจำการเป็นเวลา ๕ ปีและเสริมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ใน ค.ศ. ๑๘๗๕ ฝรั่งเศสก็มีกองทัพประจำการที่เข้มแข็งและใหญ่เกือบเท่าเทียมกับกองทัพของเยอรมนี

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๓ รัฐสภาได้เริ่มร่างรัฐธรรมนูญและจัดตั้งคณะกรรมาธิการ ๓๐ คนเพื่อพิจารณาจัดทำกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย แม้ฝ่ายกษัตริย์นิยมและสาธารณรัฐนิยมจะมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับรูปแบบการปกครอง แต่ก็สามารถประนีประนอมกันได้ในเวลาต่อมา โดยยอมรับหลักการของระบอบสาธารณรัฐ


และการยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งอาจจะทำให้มีการจัดตั้งระบอบกษัตริย์ตามกระบวนการทางกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญตีเยซึ่งพยายามรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่ฝ่ายบริหารขัดแย้งอย่างรุนแรงกับรัฐสภา เพราะเขาปฏิเสธที่จะถอดถอนรัฐมนตรีที่รัฐสภาไม่ไว้วางใจ เขาจึงลาออกด้วยความเชื่อมั่นว่ารัฐสภาจะขอให้เขากลับมาดำรงตำแหน่งบริหารอีกครั้งหนึ่ง แต่ตีเยคาดการณ์ผิดเพราะรัฐสภายอมรับการลาออกและแต่งตั้งจอมพลปาตรีซ มักมาอง (Patrice Macmahon)* วีรบุรุษแห่งยุทธการที่เมืองมาเจนตา (Battle of Magenta ค.ศ. ๑๘๕๙)* ให้รักษาการฝ่ายบริหารสืบแทน

 มักมาองเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมและการดำรงตำแหน่งของเขาเป็นเพียงการขัดตาทัพทางการเมืองชั่วขณะเพื่อให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมมีเวลาที่จะตัดสินใจขั้นเด็ดขาดว่าจะสนับสนุนบุคคลใดขึ้นปกครองในท้ายที่สุดก็เห็นชอบที่จะให้เคานต์แห่งชองบอร์สายบูร์บงขึ้นเป็นกษัตริย์ก่อน และเนื่องจากพระองค์ไม่มีรัชทายาท ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากพระองค์จะเป็นเคานต์แห่งปารีสสายออร์เลออง อย่างไรก็ตาม เคานต์แห่งชองบอร์ก็ทำลายโอกาสที่จะให้ระบอบกษัตริย์กลับมามีบทบาททางการเมือง เพราะพระองค์ยืนกรานที่จะให้นำธงสีขาวของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* มาเป็นธงชาติแทนธงสามสีของการปฏิวัติฝรั่งเศส แนวความคิดดังกล่าวทำให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมไม่กล้าผลักดันให้เคานต์แห่งชองบอร์ขึ้นครองบัลลังก์และรอโอกาสที่จะสนับสนุนเคานต์แห่งปารีสแทน ฝ่ายกษัตริย์นิยมซึ่งกุมเสียงข้างมากให้มักมาองดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเวลา ๗ ปี โดยหวังว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเคานต์แห่งชองบอร์ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษา ๕๓ ปีอาจสิ้นพระชนม์ไปก่อนที่มักมาองจะหมดอำนาจแต่พวกเขาก็พลาดโอกาสเพราะการปรับเปลี่ยนข้างของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ในรัฐสภาทำให้ความคิดเกี่ยวกับระบบกษัตริย์หมดความสำคัญลง และรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จใน ค.ศ. ๑๘๗๕ ก็สถาปนาระบอบรัฐสภาแบบอำนาจคู่ขึ้นซึ่งเปิดทางให้ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมมีโอกาสได้รับเลือกเข้าสู่สภามากขึ้นตามลำดับ จนในท้ายที่สุดระบอบสาธารณรัฐก็กลายเป็นระบอบการปกครองที่ทุกฝ่ายยอมรับ และทำให้สถาบันกษัตริย์ของฝรั่งเศสสิ้นสุดลง

 รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๗๕ ที่มีบทบัญญัติสั้นมากเพียง ๓๔ มาตรา ประกอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยสภาสูงหรือวุฒิสภา (๒๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๗๕) กฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบอำนาจต่าง ๆ ของรัฐ (๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๗๕)และกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐ (๑๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๕) โครงสร้างระบอบการปกครองเป็นระบอบรัฐสภา ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของรัฐสภาและมีวาระดำรงตำแหน่ง ๗ ปี ทั้งสามารถได้รับเลือกอีก ๑ วาระ รัฐบาลสามารถยุบสภาได้โดยความเห็นชอบของสภาสูงซึ่งมีสมาชิก ๓๐๐ คน โดยรัฐสภาแต่งตั้ง ๗๕ คน ให้ดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต และอีก ๒๒๕ คนมาจากการเลือกตั้งซึ่งจะเลือกตั้งสมาชิก ๑ ใน ๓ ทุก ๓ ปี มีวาระดำรงตำแหน่ง ๙ ปี ทั้งสภาสูงและสภาล่างสามารถตั้งกระทู้ถามเปิดอภิปรายและคว่ำรัฐบาลได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๖ มักมาองได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ ๒ และเขาถูกกดดันให้ยอมรับ จูล ซีมง (Jules Simon) ซึ่งเป็นฝ่ายสาธารณรัฐนิยมเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงการดำรงตำแหน่งครั้งนี้มักมาองมักขัดแย้งกับซีมงเสมอและสมาชิกสภาซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายสาธารณรัฐนิยมก็สนับสนุนซีมงเพื่อโค่นอำนาจมักมาองความขัดแย้งดังกล่าวได้นำไปสู่วิกฤตการณ์วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๗ (16 May 1877 Crisis)* เมื่อประธานาธิบดีกดดันให้นายกรัฐมนตรีซีมงลาออกเพื่อแต่งตั้งดุ๊กแห่งเบรย (Duc de Broglie) นักการเมืองสายกษัตริย์นิยมขึ้นดำรงตำแหน่งสืบแทน รัฐสภาจึงต่อต้านและประกาศไม่ผ่านร่างกฎหมายใด ๆ ที่รัฐบาลเสนอให้พิจารณา แต่มักมาองอ้างอำนาจของฝ่ายบริหารในรัฐธรรมนูญที่ให้คณะรัฐบาลอยู่ในความรับผิดชอบ และในขณะเดียวกันรัฐสภาก็ยืนยันการที่คณะรัฐบาลต้องอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐสภาด้วย มักมาองจึงแก้ปัญหาด้วยการขอความเห็นชอบจากสภาสูงในการยุบสภาเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน และกำหนดการเลือกตั้งขึ้นใหม่โดยหวังว่าจะสลายกำลังของกลุ่มสาธารณรัฐลงได้แต่ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๗๗ ปรากฏว่าฝ่ายสาธารณรัฐนิยมยังคงกุมเสียงข้างมากในสภาได้ มักมาองจึงต้องพยายามประนีประนอมกับรัฐสภาและเลือกชูล ดูฟอร์ (Jules Dufaure) ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมให้เป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๗๗

 วิกฤตการณ์วันที่ ๑๖ พฤษภาคมไม่เพียงทำให้อำนาจประธานาธิบดีถูกท้าทายเท่านั้น แต่ยังทำให้ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมมีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๗๙ พวกสาธารณรัฐนิยมก็ได้รับเลือกเข้ามาเป็นจำนวนมาก มักมาองจึงตัดสินใจลาออกในเดือนมกราคมและรัฐสภาได้เลือกชูล เกรวี (Jules Grévy) ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสืบแทน และนำระบบสภาเดียวมาใช้โดยรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากขึ้นประธานาธิบดีมีบทบาทน้อยลงจนไม่กล้าใช้อำนาจยุบสภาอีก ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๐–๑๘๘๑ และ ค.ศ. ๑๘๘๓–๑๘๘๕ ชูล-ฟรองซัว กามีย์ แฟรี (Jules François Camille Ferry)* ได้เป็นนายกรัฐมนตรีผลงานสำคัญของเขาคือการต่อต้านอิทธิพลของศาสนจักรในด้านการศึกษา โดยจัดการศึกษาภาคบังคับซึ่งกำหนดให้การศึกษาระดับประถมแยกออกจากอำนาจของศาสนจักร นโยบายการจัดการศึกษาภาคบังคับดังกล่าวนับเป็นการวางรากฐานระบบการศึกษามวลชนขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศและเป็นจุดเริ่มต้นที่ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมมีบทบาทเด่นชัดในการกำหนดแนวนโยบายบริหารของระบอบสาธารณรัฐ แฟรียังสนับสนุนนโยบายลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)* โดยพยายามขยายบทบาทและอิทธิพลของฝรั่งเศสเข้าไปในดินแดนโพ้นทะเลเพื่อแข่งขันกับประเทศมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ

 ในทศวรรษ ๑๘๘๐ สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ เผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เป็นการคุกคามจากฝ่ายขวา ซึ่งสืบเนื่องจากการพยายามแข่งอำนาจของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาและกลุ่มสาธารณรัฐนิยมหัวรุนแรงในการจะโค่นอำนาจรัฐบาลสาธารณรัฐสายกลาง กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาสนับสนุนพลจัตวา ชอร์ช บูลองเช (George Boulanger)* นายทหารชาตินิยมให้ยึดอำนาจเพื่อปกครองด้วยอำนาจเผด็จการทหารหรือการฟื้นคืนระบอบกษัตริย์ซึ่งนำไปสู่การเกิดกรณีบูลองเช (Boulanger Affair)* ใน ค.ศ. ๑๘๘๙แต่บูลองเชกลับลังเลใจที่จะก่อรัฐประหารยึดอำนาจเขาจึงถูกกล่าวหาว่าทรยศต่อประเทศชาติและต้องหนีออกนอกประเทศไปพำนักที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียมแม้ขบวนการต่อสู้เพื่อบูลองเชยังคงดำเนินต่อไป แต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ในท้ายที่สุดบูลองเชก็ก่ออัตวินิบาตกรรมยิงตัวเองใน ค.ศ. ๑๘๙๑

 หลังกรณีบูลองเชไม่นานนักกลุ่มฝ่ายขวาพยายามเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลสาธารณรัฐอีกครั้งด้วยการขุดคุ้ยเรื่องหนี้สินและการติดสินบนนักการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการขุดคลองปานามาเพื่อเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อย่นระยะเส้นทางเดินเรือไม่ต้องอ้อมทวีปแอฟริกาใต้ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๒–๑๘๙๓ มีการเปิดโปงกรณีอื้อฉาวคลองปานามา (Panama Scandals)* ที่ล้มละลายทางการเงินและการกล่าวหารัฐมนตรีในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชอร์ช เกลมองโซ (Georges Clémenceau)* รวมทั้งตัวเกลมองโซเองก็ปกปิดข้อเท็จจริง ทั้งรับสินบนจากบริษัทคลองปานามาเพื่อแลกเปลี่ยนกับการออกกฎหมายให้บริษัทออกสลากกินแบ่งระดมเงินทุน ๙ ครั้ง จากกองทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไป กรณีอื้อฉาวคลองปานามาได้ทำให้ความเป็นเอกภาพทางการเมืองระหว่างกลุ่มสาธารณรัฐนิยมสายกลางกับกลุ่มสาธารณรัฐนิยมหัวรุนแรงแตกหักและสิ้นสุดลง ทั้งทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธานักการเมืองมากขึ้น กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศาสนจักรจึงมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นจนทำให้การเคลื่อนไหวล้มระบอบสาธารณรัฐขยายตัวและนำไปสู่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและการใช้ความรุนแรงในสังคมอย่างต่อเนื่อง

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ สาธารณรัฐที่ ๓ เผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมครั้งใหญ่ที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสแตกแยกทางความคิดเป็น ๒ ฝ่ายในเหตุการณ์เรื่องเดรฟุส (Dreyfus Affair)* ที่สืบเนื่องมาจากคดีเดรฟุส ร้อยเอก อัลเฟรด เดรฟุส (Alfred Dreyfus) นายทหารเชื้อสายยิวที่เป็นนักสาธารณรัฐนิยมถูกจับด้วยข้อหาทรยศต่อชาติโดยขายข้อมูลลับทางทหารแก่เยอรมนี แม้เดรฟุสจะยืนกรานในความบริสุทธิ์ แต่ศาลทหารก็ตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่าเขาผิดและต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตไปจำขังที่เกาะเดวิลส์ (Devil’s) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นขุมนรก เกาะนี้อยู่ที่แคว้นเฟรนช์เกียนา (French Guiana) ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ปักใจเชื่อว่าเดรฟุสทรยศต่อชาติและเรียกร้องให้ประหารชีวิต สื่อมวลชนก็โหมกระพือข่าวว่าเดรฟุสคือสัญลักษณ์ความไม่จงรักภักดีของชาวยิว และขบวนการต่อต้านชาวยิวในฝรั่งเศสก็ก่อตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเป็นที่ประจักษ์ว่าคดีนี้มีเงื่อนงำเดรฟุสถูกกองทัพปรักปรำและคำตัดสินก็ไม่เปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งแก้ต่าง การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่สนับสนุนเดรฟุสซึ่งต้องการให้รื้อคดีขึ้นใหม่จึงเกิดขึ้นและเกลมองโซอดีตนายกรัฐมนตรีก็สนับสนุนการรื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่ด้วย

 เหตุการณ์เรื่องเดรฟุสเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองและสังคมเพราะกลุ่มที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ของระบอบสาธารณรัฐเห็นว่ากฎหมายต้องให้ความเสมอภาคและความยุติธรรมแก่ทุกคน พวกเขาต้องการให้มีการพิจารณาคดีใหม่ แต่ศาสนจักรและกองทัพต่อต้านเพราะเห็นว่ากลุ่มเดรฟุสทำลายเกียรติภูมิของประเทศและกองทัพทั้งทำให้ระบอบสาธารณรัฐตกอยู่ในห้วงอันตราย เป็นที่ยอมรับและเชื่อกันว่านายทหารบางคนและกลุ่มขบวนการปฏิกิริยาฝรั่งเศส (Action Française)* ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่เป็นพวกกษัตริย์นิยมและต่อต้านยิวพยายามล้มล้างระบอบการปกครองสาธารณรัฐเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของสถาบันทหารและรื้อฟื้นระบอบปรมิตาญาสิทธิราชย์ (Democratic Monarchy) ขณะเดียวกันพวกสาธารณรัฐนิยมก็ร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อพิทักษ์ระบอบการปกครองนี้โดยยึดหลักการและอุดมการณ์ของสาธารณรัฐที่ให้ความเสมอภาคทางกฎหมายแก่ทุกคน คดีเดรฟุสสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๐๖ เมื่อศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลทหารโดยตัดสินว่าเขาบริสุทธิ์ เดรฟุสได้กลับเข้าประจำการและเลื่อนยศเป็นพันเอกทั้งได้รับอิสริยาภรณ์เป็นการทดแทน

 เหตุการณ์เรื่องเดรฟุสเปิดโอกาสให้พวกสาธารณรัฐนิยมหัวรุนแรงและพวกสังคมนิยมรวมตัวกันและเข้าร่วมกับกลุ่มสาธารณรัฐสายกลางจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารปกครองประเทศเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองแก่ระบอบสาธารณรัฐ ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมหัวรุนแรงที่สนับสนุนเดรฟุสได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรมากขึ้นในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ พวกเขาผลักดันการออกร่างกฎหมายแยกรัฐและศาสนจักรออกจากกัน ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก็ผ่านวุฒิสภากลายเป็นกฎหมายแยกรัฐและศาสนจักร (Law of Separation of Church and State) ซึ่งทำให้ความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๘๐๑ (Concordat of 1801)* ถูกยกเลิก ในช่วง ๒ ปีต่อมารัฐเข้าควบคุมทรัพย์สินของศาสนจักรและจ่ายเงินเดือนให้แก่พระ ฝ่ายที่ต่อต้านศาสนจักรเห็นว่ากฎหมาย ค.ศ. ๑๙๐๕ เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่สืบทอดเจตนารมณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)*

 การต่อสู้เพื่อเดรฟุสยังทำให้เกลมองโซซึ่งเสื่อมเสียชื่อเสียงจากเรื่องอื้อฉาวคลองปานามาสามารถกู้ชื่อเสียงกลับคืน เพราะเขาชี้นำมหาชนให้ตระหนักถึงความยุติธรรมและร่วมปกป้องระบอบสาธารณรัฐ เกลมองโซจึงมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งจนได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาใน ค.ศ. ๑๙๐๒ และอีก ๔ ปีต่อมาก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๐๖ รัฐบาลของเกลมองโซปกครองประเทศเกือบ ๓ ปี ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดที่ ๒ ที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในสมัยสาธารณรัฐที่ ๓ ช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี เกลมองโซซึ่งตระหนักถึงสถานภาพที่อ่อนแอของฝรั่งเศสในการเมืองระหว่างประเทศได้พยายามผลักดันเรื่องการติดอาวุธให้แก่กองทัพฝรั่งเศส แต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนักผลงานสำคัญของรัฐบาลเกลมองโซคือการลดบทบาทของกลุ่มสังคมนิยมลงและพยายามแก้ไขปัญหาการนัดหยุดงานที่สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่

 ในด้านการต่างประเทศช่วง ๒๐ ปีแรกของสาธารณรัฐที่ ๓ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๐–๑๘๙๐ ฝรั่งเศสไม่มีบทบาทสำคัญทางการทูตเพราะเยอรมนีได้สร้างระบบบิสมาร์ค (Bismarckian System) หรือระบบการผูกมิตรและนโยบายต่างประเทศที่สกัดกั้นและโดดเดี่ยวฝรั่งเศสไม่ให้มีพันธมิตร ระบบพันธมิตรที่ซับซ้อนซึ่งออทโท ฟอน บิสมาร์ค อัครมหาเสนาบดีแห่งปรัสเซียเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังไม่เพียงทำให้จักรวรรดิเยอรมันมีความเข้มแข็งมั่นคงเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสันติภาพและดุลอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจยุโรปเพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างชาติระบบพันธมิตรที่ซับซ้อนดังกล่าวได้นำไปสู่การลงนามในสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund; League of the Three Emperors ค.ศ. ๑๘๗๓–๑๘๗๘)* สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี (Dual Alliance ค.ศ. ๑๘๗๙)* สนธิสัญญาประกันพันธไมตรี (Reinsurance Treatyค.ศ. ๑๘๘๗)* และความตกลงเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Agreements ค.ศ. ๑๘๘๗)* อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บิสมาร์คหมดอำนาจใน ค.ศ. ๑๘๙๐ การเมืองระหว่างประเทศที่เยอรมนีเคยเป็นผู้นำก็เสื่อมลงและเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสแสวงหาพันธมิตรได้สำเร็จซึ่งนำไปสู่การทำความตกลงฝรั่งเศส-รัสเซีย (Franco-Russian Entente)* หรือสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี (Dual Alliance)* ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ การอยู่โดดเดี่ยวของฝรั่งเศสกว่า ๒๐ ปีจึงยุติลงความสำเร็จของนโยบายต่างประเทศทำให้ฝรั่งเศสต้องการแสดงความเข้มแข็งให้เป็นที่ประจักษ์ ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ฝรั่งเศสจึงจัดงานนิทรรศการโลก (World’s Fair) ที่กรุงปารีสระหว่างวันที่ ๑๕ เมษายน–๒๐ พฤศจิกายน มีประชาชาติจากทุกมุมโลกกว่า ๕๐ ล้านคน เข้าร่วมชมนิทรรศการครั้งนี้ สยามซึ่งเคยร่วมงานนิทรรศการแสดงสินค้าที่กรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๘๘๙ มาก่อนก็ส่งสิ่งของไปร่วมแสดงในงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ ฝรั่งเศสทำความตกลงฉันมิตร (Entente Cordiale)* กับอังกฤษเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันในปัญหาที่เกี่ยวกับอาณานิคมและดินแดนโพ้นทะเล อีก ๓ ปีต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๗ อังกฤษซึ่งไม่พอใจนโยบายการขยายแสนยานุภาพทางทะเลและการเสริมสร้างกำลังทัพของเยอรมนีก็ยุตินโยบายอยู่โดดเดี่ยวอย่างงามสง่า (Splendid Isolation)* และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสและรัสเซีย สนธิสัญญาพันธไมตรีฝรั่งเศส-รัสเซีย ค.ศ. ๑๘๙๔ จึงขยายตัวเป็นความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศส-รัสเซีย-อังกฤษ ที่เรียกชื่อว่ากลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* ขึ้น และเป็นค่ายมหาอำนาจที่คานอำนาจกับกลุ่มประเทศสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance)* ของเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลีที่บิสมาร์คได้จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๒ ระบบพันธมิตร ๒ ค่ายดังกล่าวทำให้ประเทศมหาอำนาจทั้ง ๒ กลุ่มต่างหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจกันและเมื่อทั้ง ๒ กลุ่มต้องเผชิญหน้ากันในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เช่น วิกฤตการณ์โมร็อกโก (Moroccan Crisis ค.ศ. ๑๙๐๕–๑๙๐๘, ค.ศ. ๑๙๑๑)* วิกฤตการณ์บอลข่าน (Balkan Crisis ค.ศ. ๑๙๑๑, ๑๙๑๒–๑๙๑๓)* แต่ละฝ่ายก็มักจะไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่กัน และไม่ยอมร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งมักสนับสนุนพันธมิตรของกลุ่มตน บรรยากาศความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศในต้นทศวรรษ ๑๙๑๐ จึงมีส่วนทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่าสงครามเป็นทางออกทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาได้ มหาอำนาจอื่น ๆ ที่ผูกพันกันด้วยระบบพันธมิตรในท้ายที่สุดต้องประกาศสงครามต่อกันในเวลาต่อมา

 ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับการรุกรานของกองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* แม้ฝรั่งเศสจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในระยะแรกแต่ก็สามารถสกัดกั้นการบุกของเยอรมันในยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑ (First Battle of Marne)* ได้ ต่อมาดินแดนของประเทศกลายเป็นสมรภูมิรบที่ถูกกองทัพเยอรมันบุกโจมตีอย่างหนักในยุทธการที่แวร์เดิง (Battle of Verdun)* และยุทธการที่แม่น้ำซอม (Battle of the Somme)* ด้วยจุดมุ่งหมายจะ “บดขยี้ฝรั่งเศสให้สิ้นแรง” (bleed France white) ซึ่งก่อให้เกิดความหายนะอย่างใหญ่หลวงแก่ฝรั่งเศสทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ฝรั่งเศสก็ยืนหยัดต่อสู้อย่างเหนียวแน่น อย่างไรก็ตามเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๗ สถานการณ์รบก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษสามารถต้านการบุกของเยอรมนีได้ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๘ เยอรมนีก็ตกเป็นฝ่ายล่าถอยและต้องถอนกำลังออกจากดินแดนฝรั่งเศสเกือบทั้งหมดและขอเปิดการเจรจายุติสงครามโดยคาดหวังว่าประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรจะใช้หลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาเป็นพื้นฐานของการเจรจาทำสนธิสัญญาสันติภาพ เยอรมนีซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้คาดการณ์ผิดเพราะในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ค.ศ. ๑๙๑๘ ฝรั่งเศสล้างแค้นเยอรมนีด้วยการตั้งเงื่อนไขรุนแรงในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ที่ทำกับเยอรมนีโดยให้เยอรมนีชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลและทำให้เยอรมนีอ่อนแอทั้งด้านการทหาร ยุทธศาสตร์ และเศรษฐกิจเยอรมนีเห็นว่าสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและสร้างความเคียดแค้นให้แก่ชาวเยอรมันอย่างมาก ทั้งมีส่วนทำให้ในเวลาต่อมาชาวเยอรมันสนับสนุนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ให้ก้าวสู่อำนาจในต้น ค.ศ. ๑๙๓๓ ฮิตเลอร์จึงประกาศนโยบายสร้างจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* เพื่อฟื้นฟูศักดิ์ศรีของชาติและการจะนำเยอรมนีกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

 ในช่วงหลังสงครามโลก ฝรั่งเศสประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะได้รับความเสียหายจากสงครามอย่างมากทั้งมีหนี้ที่ต้องชำระกว่า ๑๘๐,๐๐๐ ล้านฟรังก์ การบูรณะฟื้นฟูประเทศจึงค่อยเป็นค่อยไปและนโยบายหลักของรัฐบาลคือการจะสร้างความมั่นคงทางพรมแดนที่ติดต่อกับเยอรมนี เพราะเห็นว่าสนธิสัญญาแวร์ซายไม่ได้ให้การค้ำประกันความปลอดภัยแก่ฝรั่งเศสอย่างเพียงพอ จึงจำเป็นต้องแสวงหามิตรจากด้านยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเพื่อสร้างดุลแห่งอำนาจใหม่แทนรัสเซียที่เป็นพันธมิตรเดิม ฝรั่งเศสเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มความตกลงอนุภาคี (Little Entente)* ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารระหว่างเชโกสโลวะเกีย ยูโกสลาเวีย และโรมาเนียเพราะต้องการช่วยเหลือประเทศดังกล่าวให้เข้มแข็งและในกรณีที่เยอรมนีเปิดฉากรุกรานฝรั่งเศส ประเทศเหล่านี้จะทำให้เยอรมนีต้องเผชิญศึก ๒ ด้าน แนวนโยบายดังกล่าวจึงนำไปสู่การลงนามความตกลงเป็นพันธมิตรกับเชโกสโลวะเกียใน ค.ศ. ๑๙๒๕ โรมาเนียใน ค.ศ. ๑๙๒๖ และยูโกสลาเวียใน ค.ศ. ๑๙๒๗ นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ฝรั่งเศสก็เริ่มก่อสร้างแนวพรมแดนมาจิโน (Maginot Line)* ซึ่งเป็นแนวปราการป้อมปืนบริเวณชายแดนด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณที่ติดต่อกับเยอรมนีมีความยาว ๓๑๔ กิโลเมตร เพื่อใช้ป้องกันการรุกรานจากเยอรมนีที่อาจรุกเข้ามาตามเส้นทางเดิมที่เคยใช้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑

 ในการเลือกตั้งทั่วไปหลังสงคราม ค.ศ. ๑๙๑๙กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาของนายกรัฐมนตรีชอร์ชเกลมองโซได้เสียงข้างมากในสภา ๔๓๓ที่นั่งส่วนพรรคสังคมนิยมได้ ๑๐๔ ที่นั่ง และพรรคหัวรุนแรงได้ ๘๖ ที่นั่ง กลุ่มฝ่ายขวาเรียกร้องการสร้างหลักประกันความมั่นคงของชาติจากการรุกรานของเยอรมนีในอนาคตและคาดหวังว่ารัฐบาลจะนำเงินค่าปฏิกรรมสงครามจากเยอรมนีมาบูรณะฟื้นฟูประเทศแต่ล้มเหลวเพราะได้รับค่าปฏิกรรมสงครามน้อยกว่าที่คาดหวังไว้มาก ซึ่งมีผลให้เกลมองโซถูกต่อต้านและต้องหมดอำนาจลง ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เรมง ปวงกาเร (Raymond Poincaré)* นายกรัฐมนตรีซึ่งไม่พอใจที่เยอรมนีไม่สามารถจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามได้ตามกำหนดเวลาจึงตัดสินใจใช้มาตรการรุนแรงโดยส่งกองทัพฝรั่งเศสซึ่งสมทบกับกองกำลังเบลเยียมเข้ายึดครองภูมิภาครูร์ (Ruhr) ในดินแดนไรน์แลนด์ (Rhineland) เพื่อบีบบังคับให้เยอรมนีจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามทั้งในรูปของเงินและวัสดุแก่ฝรั่งเศสตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย เยอรมนีตอบโต้การยึดครองรูร์ (Ruhr Occupation)* ด้วยการนัดหยุดงานครั้งใหญ่และยังคงปฏิเสธที่จะจ่ายหนี้ค่าปฏิกรรมสงคราม ยิ่งการยึดครองดำเนินไปนานเข้า เศรษฐกิจของเยอรมนีก็เลวร้ายลงจนใกล้ล้มละลาย ฝรั่งเศสก็ได้รับผลกระทบอย่างมากทางเศรษฐกิจจนท้ายที่สุดต้องยอมถอนกำลังออกใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ปวงกาเรพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการลดค่าเงินฟรังก์และเพิ่มภาษีซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายวิพากษ์โจมตีอย่างรุนแรงและมีส่วนทำให้เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งและสิ้นสุดอำนาจในต้น ค.ศ. ๑๙๒๔

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔–๑๙๒๖ กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีเอดูอาร์ แอร์รีโย (Edouard Herriot)* เป็นผู้นำได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศแต่ก็ขาดเสถียรภาพทางการเมืองเพราะพรรคสังคมนิยมที่มีเลอง บลูม (Léon Blum)* เป็นผู้นำซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายของแอร์รีโยปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในคณะรัฐบาลด้วย มีการเปลี่ยนคณะรัฐบาลถึง ๗ ชุดภายในช่วงเวลา ๒ ปี รัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ และการว่างงานมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งค่าเงินฟรังก์ลดต่ำลงและรัฐบาลก็มีหนี้สินมากจนตกอยู่ในภาวะล้มละลาย อย่างไรก็ตาม ในด้านการต่างประเทศ แอร์รีโยประสบความสำเร็จพอควรเพราะฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกามากขึ้นและได้ลงนามแก้ไขปัญหาเรื่องเส้นเขตแดนกับเยอรมนีในสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaties of Locarno)* ค.ศ. ๑๙๒๕ ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีดีขึ้น ฝรั่งเศสยังเสริมสร้างมิตรไมตรีกับสหภาพโซเวียตเพื่อใช้สหภาพโซเวียตเป็นดุลสำคัญในการถ่วงอำนาจเยอรมนี ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินงานของสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าและไม่สามารถแก้ไขได้ทำให้รัฐบาลของแอร์รีโยต้องสิ้นสุดอำนาจลง

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๖–๑๙๒๘ ปวงกาเรกลับมีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งโดยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ ๔ ควบกับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยปวงกาเรดำเนินนโยบายเด็ดขาดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการขึ้นภาษีและใช้จ่ายเงินของรัฐบาลเพื่อสร้างงานตามโครงการต่าง ๆ ตลอดจนพยายามสร้างความสมดุลทางงบประมาณและกำหนดใช้ทองคำเป็นมาตรฐานสำรองทางการเงินภาวะเศรษฐกิจจึงเริ่มกระเตื้องขึ้นและอัตราการส่งออกก็เพิ่มสูง รัฐบาลสามารถชำระหนี้สินได้มากและเพิ่มวงเงินสำรองในธนาคารกลางได้สูงเป็นอันดับ ๒ ของโลก ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกายังร่วมมือกันผลักดันแนวความคิดการต่อต้านสงครามด้วยการประณามการใช้สงครามเป็นเครื่องมือตัดสินกรณีพิพาทระหว่างประเทศและให้ศาลโลกมีบทบาทในการแก้ไขกรณีพิพาทระหว่างประเทศ แนวความคิดของทั้ง ๒ ประเทศดังกล่าวจึงนำไปสู่การลงนามกติกาสัญญาปารีส (Pact of Paris) หรือกติกาสัญญาบรียอง-เคลลอกก์ (Briand-Kellogg Pact)* เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๘ โดยมีประเทศต่าง ๆ ๑๕ ชาติซึ่งรวมทั้งเยอรมนีเข้าเป็นสมาชิกด้วยและในปีต่อมาก็มีอีก ๕๔ ประเทศเข้าเป็นสมาชิกบรรยากาศตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศจึงผ่อนคลายมากขึ้นความสำเร็จของการดำเนินนโยบายต่างประเทศและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลของปวงกาเรได้รับความนิยมมากขึ้นและมีชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ แต่ปัญหาสุขภาพที่เสื่อมโทรมทำให้ปวงกาเรต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๙

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙–๑๙๓๕ พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายได้อำนาจจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศอีกครั้งหนึ่ง แต่รัฐบาลก็ขาดเสถียรภาพทางการเมืองและมีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง ๑๖ ชุด ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ในต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ ที่สืบเนื่องจากการล้มละลายของตลาดหุ้นที่วอลล์สตรีต (Wall Street) ที่นครนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ของสหรัฐอเมริกาและต้องพึ่งตลาดการค้าในสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งระบายสินค้า การสั่งเข้าและอื่น ๆ รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยการควบคุมรายจ่ายและปล่อยราคาสินค้าลอยตัว ทั้งยกเลิกมาตรฐานทองคำ ขณะเดียวกันก็เพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมที่จำเป็น และพยายามรักษาค่าของเงินฟรังก์ไม่ให้ตกต่ำลงและอื่น ๆ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นและแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้มากนัก ปัญหาเศรษฐกิจและการขาดเสถียรภาพทางการเมืองยังมีส่วนทำให้ในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๖ ฝรั่งเศสไม่ดำเนินการทางทหารต่อต้านเยอรมนีในการเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดครองเขตปลอดทหารบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงสนธิสัญญาแวร์ซาย ค.ศ. ๑๙๑๙ เพราะเกรงว่าการตอบโต้อาจนำไปสู่สงคราม

 หลัง ค.ศ. ๑๙๓๕ เป็นต้นมา รัฐบาลฝรั่งเศสเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้ฝรั่งเศสมุ่งเน้นการแก้ปัญหาภายในโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาการเมืองภายนอกประเทศ และต้องยอมโอนอ่อนต่อข้อเรียกร้องทางการเมืองของเยอรมนีในเรื่องต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๘ พรรคสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศโดยมีเลอง บลูมซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคสังคมนิยมได้เป็นนายกรัฐมนตรี บลูมพยายามประยุกต์แนวทางสังคมนิยมในการบริหารประเทศและกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก และนโยบายการลดเวลาการทำงานของกรรมกรให้เหลือสัปดาห์ละ ๔๐ ชั่วโมง ยังนำไปสู่ความขัดแย้งเพราะพรรคการเมืองฝ่ายค้านโจมตีอย่างรุนแรงซึ่งมีส่วนทำให้บลูมต้องลาออกใน ค.ศ. ๑๙๓๘ แต่เขาก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในช่วงสั้น ๆ อย่างไรก็ดีปัญหาเศรษฐกิจและการขาดเสถียรภาพทางการเมืองทำให้รัฐบาลต้องลาออกทั้งคณะเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๘๓๘ หลังจากครองอำนาจเพียง ๒๘ วัน

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ แอร์รีโยมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งและเขาสนับสนุนอังกฤษในการดำเนินนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* หรือนโยบายผ่อนปรน ด้วยการยอมให้ฮิตเลอร์ผู้นำเยอรมนีดำเนินการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ และเข้ายึดครองแคว้นซูเดเทน (Sudeten) ของเชโกสโลวะเกียในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ตามลำดับ นโยบายผ่อนปรนของประเทศตะวันตกทำให้ฮิตเลอร์ตระหนักว่าทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสยังไม่พร้อมที่จะทำสงครามในเวลาอันสั้นเยอรมนีจึงดำเนินนโยบายเชิงรุกด้วยการละเมิดความตกลงมิวนิก (Munich Agreement ค.ศ. ๑๙๓๘)* และเข้ายึดครองดินแดนเชโกสโลวะเกียทั้งหมด อังกฤษและฝรั่งเศสจึงยกเลิกการดำเนินนโยบายเอาใจอักษะประเทศและเริ่มระดมกำลังพลเมื่อเยอรมนีเตรียมแผนบุกโปแลนด์และทำกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต หนึ่งเดือนต่อมาเยอรมนีก็จุดชนวนสงครามด้วยการบุกโปแลนด์เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งค้ำประกันเอกราชของโปแลนด์จึงประกาศสงครามกับเยอรมนี สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* จึงเกิดขึ้นและในเวลาอันสั้นก็ขยายตัวไปทั่วยุโรปรวมทั้งดินแดนส่วนอื่น ๆ ของโลก

 เมื่อสงครามเริ่มขึ้นเยอรมนีใช้ยุทธวิธีทำสงครามสายฟ้าแลบ (Lightning War)* ในการบุกโจมตีโปแลนด์และเพียง ๓ สัปดาห์ก็ยึดครองโปแลนด์ได้ทั้งหมด ฝรั่งเศสจึงลงนามในปฏิญญาร่วมกับอังกฤษโดยทั้ง ๒ ประเทศให้คำมั่นว่าจะไม่ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพแยกกันต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เยอรมนีก็ยึดกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* ซึ่งประกอบด้วยเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ไว้ได้ และสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปยุโรปได้หมดในเวลาอันสั้น ฝรั่งเศสซึ่งเตรียมรับการบุกของเยอรมนีขอให้สหรัฐอเมริกาส่งกำลังทางอากาศมาสนับสนุนด้วย แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ ในการโจมตีฝรั่งเศสซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ขบวนยานเกราะของเยอรมนีบุกฝ่าแนวของฝรั่งเศสที่เมืองเซอดองและตีทะลวงไปถึงช่องแคบอังกฤษได้ภายในสัปดาห์เดียวและมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* กรุงปารีสถูกยึดครองเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ รัฐบาลฝรั่งเศสต้องอพยพไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองตูร์ (Tours) ทางตอนใต้ของประเทศ กองทัพเยอรมันประกาศให้กรุงปารีสเป็น “เมืองเปิด” โดยเข้าควบคุมเมืองเต็มกำลังแต่ไม่ได้ทำลายกรุงปารีสและให้ประชาชนใช้ชีวิตเป็นปรกติ

 ก่อนกรุงปารีสถูกยึดครอง ๑ วัน จอมพล ฟิลิปเปแตง (Philippe Pétain)* ซึ่งร่วมในคณะรัฐบาลต้องการหลีกเลี่ยงหายนะจากการบุกโจมตีอย่างหนักของเยอรมนีพยายามโน้มน้าวนายกรัฐมนตรีให้ยอมแพ้และเปิดการเจรจาสงบศึกกับเยอรมนี และเพื่อจะสามารถรักษาดินแดนส่วนที่ยังไม่ถูกยึดครองไว้ได้แต่รัฐบาลปฏิเสธ นายกรัฐมนตรีปอล เรโน (Paul Raynaud)* ตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายนประธานาธิบดีอัลแบร์ เลอเบริง (Albert Lebrun) จึงเชิญเปแตงเป็นนายกรัฐมนตรีและในสถานการณ์วิกฤตของประเทศเปแตงได้รับมอบอำนาจพิเศษในฐานะประมุขของประเทศ เขาจึงตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ทั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับวิชีให้อำนาจอยู่ที่เปแตงเพียงคนเดียว ในวันรุ่งขึ้นรัฐบาลฝรั่งเศสใหม่ก็ประกาศไม่ทำสงครามกับเยอรมนีต่อไปและขอเจรจาสงบศึกกับเยอรมนี ทั้งย้ายเมืองหลวงจากเมืองตูร์ไปอยู่ที่เมืองวิชี (Vichy) ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ฝรั่งเศสก็ประกาศให้ความร่วมมือกับเยอรมนีและลงนามในสัญญาสงบศึก ณ เมืองกงเปียญ (Compiègne) บนตู้รถไฟขบวนเดียวกับที่จอมพล แฟร์ดีนอง ฟอช (Ferdinand Foch)* เคยเจรจาทำสัญญาสงบศึกกับเยอรมนีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘

 หนึ่งวันหลังจากที่เปแตงประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ปลัดกระทรวงกลาโหมและนายทหารที่ร่วมทำสงครามกับเปแตงมาตั้งแต่แรกไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเปแตงจึงลี้ภัยไปอังกฤษและจัดตั้งขบวนการฝรั่งเศสเสรี (Free French Movement)* ขึ้นเพื่อต่อต้านนาซีและเพื่อปลดปล่อยฝรั่งเศสจากการยึดครองของมหาอำนาจอักษะอย่างไรก็ตามประชาชนทั่วไปก็พอใจกับความสงบที่กลับคืนมาและกองทัพเยอรมันในเขตยึดครองไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก ต่อมาฝรั่งเศสก็ลงนามการสงบศึกกับเยอรมนีและกับอิตาลีเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ นายพลวิลเฮล์ม ไคเทิล (Wilhelm Keitel)* ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีเป็นผู้ยื่นเงื่อนไขของสนธิสัญญาต่อรัฐบาลวิชี (Vichy Government)* โดยเยอรมนียอมรับรองรัฐบาลวิชี แต่เยอรมนียึดครองดินแดนทางตอนเหนือและตะวันตกของฝรั่งเศสรวมทั้งกรุงปารีสและดินแดนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกรวมประมาณ๓ใน๔ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ฝรั่งเศสมีสิทธิเหนือดินแดนประมาณ ๒ ใน ๕ รัฐบาลวิชีถือเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจปกครองในนามของประชาชนชาวฝรั่งเศส หลังการลงนามไม่นานนักเยอรมนีก็ถอนกำลังทั้งหมดออกจากดินแดนของฝรั่งเศส ความปราชัยของฝรั่งเศสและการตกอยู่ใต้การยึดครองของเยอรมนีไม่เพียงเป็นเรื่องอัปยศในประวัติศาสตร์สงครามของฝรั่งเศสเท่านั้นแต่ยังนับเป็นการสิ้นสุดสถานภาพทางการเมืองของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ อีกด้วย.



คำตั้ง
Third French Republic; Third Republic
คำเทียบ
สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓, สาธารณรัฐที่ ๓
คำสำคัญ
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- กติกาสัญญาบรียอง-เคลลอกก์
- กติกาสัญญาปารีส
- กรณีบูลองเช
- กรณีอื้อฉาวคลองปานามา
- กลุ่มความตกลงอนุภาคี
- กองแบตตา, เลอง
- การนัดหยุดงานครั้งใหญ่
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- การยึดครองรูร์
- เกลมองโซ, ชอร์ช
- ขบวนการต่อต้านชาวยิว
- ขบวนการปฏิกิริยาฝรั่งเศส
- ขบวนการฝรั่งเศสเสรี
- ความตกลงฉันมิตร
- ความตกลงไตรภาคี
- ความตกลงฝรั่งเศส-รัสเซีย
- ความตกลงมิวนิก
- ความตกลงเมดิเตอร์เรเนียน
- ความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๘๐๑
- ความตกลงอนุภาคี
- คอมมูนแห่งปารีส
- ไคเทิล, วิลเฮล์ม
- เดอ โกล, ชาร์ล
- ตีเย, มารี โชแซฟ ลุย อาดอล์ฟ
- นโยบายอยู่โดดเดี่ยวอย่างงามสง่า
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- นาซี
- แนวพรมแดนมาจิโน
- บลูม, เลอง
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- บูลองเช, ชอร์ช
- ปวงกาเร, เรมง
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- ฟอช, จอมพล แฟร์ดีนอง
- ฟอช, แฟร์ดีนอง
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- มหาอำนาจอักษะ
- ยุทธการที่เซอดอง
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- ยุทธการที่เมืองมาเจนตา
- ยุทธการที่แม่น้ำซอม
- ยุทธการที่แม่น้ำมาร์น
- ยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่ ๑
- ยุทธการที่แวร์เดิง
- ยูโกสลาเวีย
- ระบบบิสมาร์ค
- รัฐบาลวิชี
- เรโน, ปอล
- ลัทธิจักรวรรดินิยม
- วิกฤตการณ์บอลข่าน
- วิกฤตการณ์โมร็อกโก
- วิกฤตการณ์วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๗
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สนธิสัญญาประกันพันธไมตรี
- สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
- สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี
- สนธิสัญญาพันธไมตรีฝรั่งเศส-รัสเซีย
- สนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต
- สนธิสัญญาโลคาร์โน
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สหภาพโซเวียต
- สัญญานาซี-โซเวียต
- สัญญาสงบศึก
- สันนิบาตชาติ
- สันนิบาตสามจักรพรรดิ
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- เหตุการณ์เรื่องเดรฟุส
- ออสเตรีย-ฮังการี
- แอร์รีโย, เอดูอาร์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-